หลังจากที่เตร็ดเตร่อยู่แต่ในตัวเมือง Fukuoka มาหลายวัน ในที่สุดวันนี้ก็จะได้ออกไปเที่ยวจังหวัดอื่นบ้างแล้ว ก่อนหน้านี้ก็เอาคูปองไปแลกตั๋ว JR Pass มาให้เรียบร้อย ตอนที่แลกก็บอกเจ้าหน้าที่ไปว่าจะเริ่มใช้งานตั้งแต่วันไหน เค้าจะพิมพ์ตั๋วที่ระบุชื่อของเรา, เลขพาสปอร์ต, วันที่ใช้งานได้ ออกมาเสียบไว้กับบัตร JR Pass ให้
เวลาใช้ JR Pass จะใช้กับประตูอัตโนมัติไม่ได้ ก็ให้เดินเข้าทางประตูข้างๆ จะมีพนักงานยืนตรวจอยู่ พอยื่น JR Pass ให้เค้าก็จะเปิดประตูให้เอง
โปรแกรมวันนี้จะมุ่งหน้าสู่ภูเขา Aso ใจกลางเกาะคิวชู เพื่อไปดูปากปล่องภูเขาไฟที่ยังดับไม่สนิท ซึ่งการเดินทางออกจะลำบากหน่อย และเรื่องเวลาต้องเป๊ะพอสมควร
(รูปประกอบจาก japan-guide.com)
- สเต็ปแรกคือนั่งชินคันเซ็น (ในแผนที่จะเป็นเส้นสีแดง) จาก Hakata ไปลงที่สถานี Kumamoto ในจังหวัด Kumamoto ใช้เวลาประมาณ 40 นาที
- ต่อรถไฟ JR limited express (เส้นสีส้ม) ไปลงที่สถานี Aso ใช้เวลาประมาณ 70 นาที
- ต่อรถบัสไปที่สถานีรถกระเช้าตรงตีนเขา Aso ประมาณ 35 นาที
- ขึ้นกระเช้าไปยอดเขา ก็จะเจอกับปากปล่องภูเขาไฟ
ความลำบากคือรถไฟไปลงสถานี Aso มีไม่ถี่นัก ถ้าพลาดขบวนนึงแล้วต้องรออีกนานเลยกว่าคันต่อไปจะมา รวมทั้งรถบัสก็มีไม่ถี่ด้วยเหมือนกัน ทางที่ดีคือ วางแผนไว้ตั้งแต่ก่อนมาว่าจะขึ้นรถเที่ยวกี่โมง มีเวลาเปลี่ยนรถกี่นาที ถ้าพลาดขบวนนึงแล้วจะต้องเปลี่ยนไปเป็นอีกขบวน จะทำยังไง จดเป็น Plan A, B, C ไว้เลย
เริ่มต้นกันที่สถานี Hakata ถ้าออกแต่เช้าได้ก็จะดี เผื่อมีอะไรผิดพลาดจะได้แก้ไขทัน
ผมเผื่อเวลาแวะซื้อของกินจากสถานี Hakata ก่อนด้วย เป็น ekiben (ข้าวกล่องรถไฟ – ถึงหน้าตาจะดูไม่เป็นกล่องเท่าไหร่) กับกาแฟกระป๋อง
ที่นั่งของชินคันเซ็นออกแบบมาดี มีช่องให้เสียบกระป๋องเครื่องดื่ม
ตั๋วรถนี่ออกไว้ล่วงหน้าเลยก็ได้ คันนี้เป็นขบวน “Sakura” ใช้เวลา 42 นาทีจะถึง Kumamoto
ข้าวกล่องซาบะเมฉิ เป็นซาบะดองโปะกับข้าว มีขิงกับโชยุแบบซองให้ อร่อยทีเดียว
ข้อมูลเรื่อง Ekiben 「駅弁」 หรือข้าวกล่องรถไฟ ผมอ่านจากการ์ตูนตะลอนชิมข้าวกล่องรถไฟ เล่ม 1 จะเป็นช่วงที่ทัวร์กินบนเกาะคิวชูพอดี หรือมั่วๆ ดูจากภาษาญี่ปุ่นในเว็บของ JR Kyushu ก็ได้ จะมีให้ดูแยกว่าจังหวัดไหนมีข้าวกล่องแบบไหนขายบ้าง (มีรูปประกอบ)
ถึงสถานี Kumamoto แล้ว เต็มไปด้วยหมีดำคุมะมง มาสค็อตประจำเมือง
ตามแผนคือผมมีเวลาเปลี่ยนรถราวๆ สิบนาที ระหว่างนั้นต้องไปตามหาข้าวกล่อง “อายุยะซันได” ซึ่งเป็นหนึ่งในข้าวกล่องที่ได้รางวัลจากการประกวดข้าวกล่องของคิวชู ว่าจะเอาไปกินเป็นมื้อกลางวันบนเขา แต่ในสถานี Kumamoto ตอนนั้นกำลังปรับปรุง ทางเดินมันออกจะงงๆ หน่อยทำให้หาทางไปร้านที่มีข้าวกล่องขายเยอะๆ ไม่เจอ สุดท้ายก็ต้องเลือกวิ่งไปขึ้นรถไฟ ไม่งั้นถ้าพลาดขบวนนี้แผนจะรวนไปหมด
ขึ้นรถไฟขบวน JR Limited Express สาย Hohi ใช้ JR Pass ได้ไม่มีปัญหา
ระหว่างทางมีแต่ทุ่งหญ้าเขียวๆ ฝนก็ยังตกปรอยๆ
เจอสะพาน เจอแม่น้ำบ้าง
จะกระทั่งมาถึงสถานี Aso ก็ต้องรีบไปต่อคิวซื้อตั๋วรถบัส ซึ่งท่ารถบัสก็จะอยู่ด้านนอกสถานีเลย
ระหว่างต่อคิว มีตารางรสบัสให้หยิบด้วย แนะนำว่าให้เก็บไว้ให้ดี ยังต้องใช้อีกตอนขากลับ ในรูปจะเห็นว่าระหว่างสถานี Aso (Asoeki) กับตีนเขา (Mt.Aso) จะมีสถานี Kusasenri ด้วย เป็นจุดที่มีที่พักนักท่องเที่ยว มีร้านค้า ของกิน ซึ่งกะว่าจะแวะตอนขากลับลงมาจากภูเขา
ตั๋วเที่ยวเดียวราคา 650 เยน ซื้อจากตู้ขายตั๋วอัตโนมัติ มีพนักงานยืนช่วยเหลืออยู่หน้าตู้ ไม่ต้องกลัวว่าจะซื้อไม่ถูก ขอแค่เตรียมเหรียญให้พร้อม
รถบัสออกตรงเวลา วิ่งขึ้นเขาไปเรื่อยๆ ภายนอกยังมีหมอกสลับกับฝนปรอยๆ มีวัวมีม้ากินหญ้าอยู่บ้างประปราย
ถนนขึ้นเขานี่จะมีจุดชมวิวอยู่เป็นระยะ ถ้าเช่ารถขับมาก็สามารถแวะจอดถ่ายรูปสวยๆ ได้
ผ่านไปครึ่งชั่วโมงก็มาถึงตีนเขา มีสถานีกระเช้า ข้างในมีห้องน้ำ กับร้านขายของที่ระลึกเล็กน้อย ตั๋วนั่งกระเช้ามีทั้งแบบเที่ยวเดียว (750 เยน) และแบบไปกลับ (1,200 เยน) ผมเลือกซื้อแบบขึ้นไปเที่ยวเดียว เพราะอยากจะประหยัด (งกน่ะแหละ) และจากข้อมูลที่หามาเค้าบอกว่า ดูปล่องภูเขาไฟเสร็จแล้วมีทางเดินให้เดินลงมาได้
ที่เขียนว่า Asosan ก็คือ Mount Aso น่ะแหละ เป็นวิธีทับศัพท์สไตล์ญี่ปุ่น (แบบเดียวกับที่เราเขียน Thanon Sukhumvit แทนที่จะเป็น Sukhumvit Road)
ตั้งแต่ปี 1958 ก็ 56 ปีแล้ว
ถึงยอดเขาแล้ว แต่ฝนก็ยังไม่หยุดตก
บนยอดเขาจะมีป้ายสัญญาณไฟ เตือนระดับของมลพิษในบริเวณนั้น เพราะปากปล่องภูเขาไฟที่ยังไม่ดับสนิทดีนั้นยังปล่อยกำมะถัน และสารเคมีอื่นๆ ออกมาตลอด
ปากปล่องภูเขาไฟอยู่ห่างออกไปไม่ไกล แต่ทัศนวิสัยตอนนี้แย่มาก ทั้งเมฆหมอกและละอองฝน ไม่เป็นใจเอาเสียเลย ไม่รู้ว่าที่เดินทางมาหลายชั่วโมงนี่จะเสียเวลาฟรีหรือเปล่า
Leave a Reply