เที่ยวคิวชูด้วยตัวเอง : Kiharu

จบจากคอนเสิร์ตของ Nogizaka46 แล้ว ผู้คนทยอยออกมาจากฮอลล์พร้อมกันหมด คนที่จะต่อรถเมล์ก็ยืนต่อคิวที่ป้ายรถเมล์กันเป็นระเบียบมาก เห็นแล้วอดเทียบกับคนรอรถเมล์บ้านเราแถวอนุสาวรีย์ฯ ไม่ได้ ส่วนคนที่จะกลับรถไฟใต้ดินก็ต้องเดินออกไปไกลสักนิด เพราะ Kokusai Center ที่จัดงานอยู่ค่อนข้างห่างจากสถานี

ผมแวะเอากล้องและสัมภาระอื่นที่เก็บไว้ในล็อคเกอร์ที่สถานี ก่อนจะหาอะไรกินอีกสักหน่อยก่อนกลับเข้าที่พัก

ร้านที่ไปชื่อว่าร้าน きはる (Kiharu) อยู่ไม่ไกลจากสถานี Tenjinminami เท่าไหร่ แต่เป็นร้านเล็กๆ อยู่บนชั้นสองของหลืบหนึ่ง ต้องเดินหาอยู่สักพักนึงถึงจะเจอ

Kiharu

ทางขึ้นหน้าร้านมีป้ายผ้าผืนใหญ่ กับป้ายไฟเล็กๆ ต้องตั้งใจหาจริงๆ ถึงจะเจอ

ตัวร้านอยู่ชั้นสอง มีห้องแยกสำหรับลูกค้าที่มาเป็นกลุ่ม กับเคาท์เตอร์ขนาดนั่งได้ราวๆ 8 ที่นั่ง ตอนที่ไปถึงมีลูกค้าในห้องแยกอยู่แล้วกลุ่มหนึ่ง ตรงเคาท์เตอร์มีที่ว่างพอสมควร ผมเข้าไปนั่งข้างๆ ชายหญิงคู่หนึ่งที่นั่งอยู่ก่อนแล้ว

Kiharu

ของมึนเมาเรียงเป็นแถว มีขวดที่เป็นชื่อร้านด้วย

Kiharu

กระป๋องลึกลับลายผีน้อยคิทาโร่ ที่ดูไม่ออกว่าข้างในเป็นอะไร

สำหรับร้านเล็กๆ ในภูมิภาคบ้านนอกอย่างคิวชูนี่ เป็นเรื่องปกติที่เมนูจะไม่มีภาษาอังกฤษ แต่ลองถามหาดูก็ไม่เสียหาย ส่วนคำตอบก็เป็นดังคาดคือ ไม่มี ดังนั้นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับเครื่องดื่มก็คือสั่งเบียร์ หรือถ้าเป็นเบียร์สดก็บอกว่า นามะบีหรุ (生ビール) สำหรับอาหารก็มามั่วเอาจากเมนูภาษาญี่ปุ่น – พอดีไม่ได้ถ่ายรูปมา แต่ดูตัวอย่างจากใน tabelog ได้

Kiharu

อันนี้เป็น service ของร้าน เสิร์ฟมาให้เลย ไม่ต้องสั่ง

จากที่ทำการบ้านมาก่อน เมนูที่แนะนำคือซาชิมิ 泳ぎサバ (โอะโยะกิซาบะ – แปลว่า ซาบะว่ายน้ำ)

Oyogi Saba Sashimi

สั่งไปแล้วก็นั่งกินเบียร์รอ ไม่นานก็มาเสิร์ฟ ลองกินดูแล้ว เนื้อปลาสดเด้งมาก ให้สัมผัสที่ต่างกับซาบะที่เคยกินมาทั้งหมดเลย

ระหว่างที่กำลังละเลียดกินซาบะ + พยายามอ่านเมนูภาษาญี่ปุ่นด้วยความรู้จำกัดจำเขี่ย ลูกค้าคนที่นั่งข้างๆ ตรงเคาท์เตอร์ก็หันมาชวนคุยเป็นภาษาอังกฤษ

นอกจากผมแล้ว ที่เคาท์เตอร์มีแค่ชายหญิงสองคนที่ดูเหมือนจะเป็นแฟนกัน ฝ่ายชายท่าทางดูเซอร์ๆ ผมหยิกมีเคราบางๆ ถ้าบอกว่าเป็นผู้กำกับหนังอินดี้หรือนักดนตรีวงร็อคสักวง ก็คงเชื่อได้ไม่ยาก ส่วนคนที่หันมาคุยกับผมเป็นผู้หญิง อายุน่าจะราวๆ 30 ผมสั้น ดูเหมือนคนในแวดวงศิลปะมากกว่าสาว OL ในมือคีบบุหรี่มวนเล็ก

บทสนทนาเป็นไปตามมาตรฐานการคุยกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ มาจากไหน มาคนเดียวเหรอ รู้จักร้านนี้ได้ยังไง ฯลฯ จะต่างกับการสนทนาปกติก็ตรงที่ว่า ฝ่ายนั้นคุยมาเป็นภาษาอังกฤษสำเนียงฟังง่าย (รู้ทีหลังว่าเคยไปเรียนที่อเมริกามาก่อน) แต่ผมพยายามตอบด้วยภาษาญี่ปุ่นกระท่อนกระแท่น ถ้ารู้คำศัพท์และแต่งรูปประโยคได้ ไม่งั้นก็ใช้ภาษาอังกฤษไป

“ไก่ที่คิวชูนี่สดอร่อยมากเลยนะ” เธอแนะนำข้อมูลที่ผมไม่รู้มาก่อน พร้อมกับชี้ไปที่อาหารในจานหน้าตาคล้ายไก่ย่างถ่านตามร้านอาหารญี่ปุ่นบ้านเรา แต่มีส่วนที่สุกแค่ผิวๆ เล็กน้อย ที่เหลือยังดิบอยู่ และยังให้ข้อมูลเสริมอีกว่า เมนูนี้มีเฉพาะในคิวชูที่ไก่คุณภาพดีและสดเท่านั้น หากินในภูมิภาคอื่นของญี่ปุ่นไม่ได้ พูดจบเธอก็ขยับจานมาทางผมและชวนให้ลองชิม

จากสามัญสำนึกที่เคยมีมาว่าเนื้อไก่ไม่อร่อยและไม่ค่อยมีรสชาติ (เท่าเนื้อชนิดอื่น) แต่ถ้าเป็นเรื่องกินก็ไม่อยากจะปฏิเสธน้ำใจ ผมลองคีบไก่มาชิ้นนึง จิ้มกับซอสที่มีให้ แล้วเอาใส่ปาก พบว่าเนื้อไก่มีเดียมแรร์นี่มันอร่อยผิดคาดเลยทีเดียว

“โออิชี่เดส” “อะริกะโตะโกะไซมัส” เป็นคนมีมารยาทก็ควรจะกล่าวขอบคุณ

ผมอยากจะสั่งอะไรอีกสักจาน แต่เมนูภาษาญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยคันจิแปลกๆ ดูจะเกินความสามารถในตอนนี้ ก็เลยลองขอคำแนะนำจากคุณสองคนนี้ดู ทั้งสองคนปรึกษากันเป็นภาษาญี่ปุ่นที่ผมฟังไม่ออก แต่ดูท่าทางแล้วก็เข้าใจได้ว่า มันมีของอร่อยหลายเมนูและไม่รู้จะแนะนำอันไหนดี

สุดท้ายทางนั้นก็แนะนำ “ซาบะคร็อกเก็ต” มาให้

Saba Crocket

หน้าตาก็เป็นอย่างในรูป เป็นมันฝรั่งบด ผสมไข่ ผสมปลาซาบะ ทอดออกมาเป็นก้อน ตอนกินก็บีบมะนาวจิ้มซอสเอา ซึ่งคร็อกเก็ตเป็นเมนูบ้านๆ แบบญี่ปุ่นมาก ไม่ exotic และโด่งดังในระดับโลกอย่างพวกซูชิหรือราเมง ในร้านอาหารญี่ปุ่นในบ้านเราก็พอมีบ้างแต่ไม่ได้เป็นเมนูเด่น

คร็อกเก็ตที่นี่มีส่วนผสมเป็นไข่สดของคิวชู และปลาซาบะที่เป็นของเชิดหน้าชูตาของร้าน ทอดออกมาสีสวยงาม กัดเข้าไปแล้วได้ความกรอบภายนอก และความร้อนของไส้ที่อยู่ข้างใน รสชาติอร่อยผิดจากคร็อกเก็ตเมืองไทย

ที่จริงก็อยากจะสั่งเพิ่มอีก แต่ตอนนั้นก็ดึกแล้ว จำต้องร่ำลาและขอบคุณทั้งสองคนนั้นที่ให้ความช่วยเหลือ แล้วรีบกลับที่พักเพื่อวางแผนเวลาการเดินทางของวันรุ่งขึ้น เพราะโปรแกรมเที่ยววันถัดไปจะออกไปนอกจังหวัดฟุกุโอกะบ้างแล้ว


Posted

in

by

Tags:

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *